งานพระราชพิธี ของ พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ในการจัดงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี หรือเรียกกันว่า "สมโภชพระนคร” ขึ้น ณ วันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช 1244 ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 โดยนับจากวันฝังเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2425 และในวันรุ่งขึ้นมีการพระราชทานเหรียญแด่พระน้องยาเธอที่เป็นนายด้านทำการปฏิสังขรณ์[6]

งานฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในวันจันทร์ เดือน 5 แรม 14 ค่ำ ปีมะแม จัตวาศก ศักราช 1244 ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 ตอนเช้าได้อัญเชิญพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท แล้วเลี้ยงพระสงฆ์ทั้งในพระบรมมหาราชวังและรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1,624 รูป จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ประทับพลับพลาจัตุรมุข ณ ท้องสนามหลวง ทรงก่อพระฤกษ์ศาลหลวง และในตอนบ่ายเสด็จพระราชดำเนินออกทรงโปรยทานและทอดพระเนตรจุดดอกไม้เพลิง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์[7]

มีการจัดมหรสพฉลองอย่างเอิกเกริมมโหฬารทั้งในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร 7 วัน 7 คืน มีทั้งโขน ละครใน ละครชาตรี หุ่นกระบอก และการละเล่นต่าง ๆ ทั้วบริเวณท้องสนามหลวง และให้มีการละเล่นรอบกำแพงพระนครตามระยะป้อมรวม 18 ตำบล ตามท้องน้ำ 5 ตำบล ที่ป้อมต่างๆ และตามบริเวณกำแพงเมืองมีละคร งิ้ว และการแสดงอื่น ๆ โดยจัดระหว่างวันที่ 18-21 เมษายน พ.ศ. 2425 รวม 4 วัน 4 คืน และมีการแสดงพิพิธภัณฑ์วัตถุ สิ่งของที่ประดิษฐ์ภายในประเทศให้ประชาชนได้ชมที่ท้องสนามหลวง โดยจัดระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 1 มิถุนายน พ.ศ. 2425 รวม 52 วัน[8]